Health Me

วิธีทำความสะอาดจมูกง่าย ๆ ด้วยตนเอง

  • บทความ
  • วิธีทำความสะอาดจมูกง่าย ๆ ด้วยตนเอง
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะสวมแมสก์กันทั้งวันเมื่อต้องออกนอกบ้าน แต่แมสก์ก็ไม่ได้ป้องกันมลพิษได้ 100% หลาย ๆ คนจึงยังเลือกใช้วิธีล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพราะจะช่วยลดน้ำมูก ขจัดเสมหะ และกำจัดเชื้อโรคได้และทำให้การหายใจได้ง่ายขึ้น การล้างจมูกให้ถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
การล้างจมูก ?
การล้างจมูก เป็นการชะล้างเอาน้ำมูก  หนอง  สิ่งสกปรกในจมูก เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก ลดความเหนียวข้นของน้ำมูก ทำให้เชื้อโรคไม่เจริญเติบโต
อุปกรณ์ในการล้างจมูกมีอะไรบ้าง?
1. น้ำเกลือ 0.9% Sodium Chloride
2. หลอดฉีดยา (Syringe)
3. อุปกรณ์อื่นๆ จุกล้างจมูก ผ้าสะอาด ภาชนะ เช่น แก้วน้ำ ถ้วยใส่น้ำเกลือ และกะละมัง
ขั้นตอนการล้างจมูก
1. อุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูก ให้มีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก การใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดการคัดจมูกหลังการล้างได้
2. ควรล้างจมูกบนโต๊ะ และเตรียมภาชนะมารองรับน้ำเกลือหลังล้างด้วย
3. ใช้กระบอกฉีดยา ที่แพทย์จ่ายให้ ดูดน้ำเกลือที่อุ่นได้ที่แล้วในปริมาณน้อย ๆ ก่อน ในผู้ใหญ่ประมาณ 10-15 ซีซี ในเด็กประมาณ 5 ซีซี
4. นั่งโน้มตัวไปข้างหน้า ก้มหน้าเล็กน้อย เริ่มล้างจมูกข้างที่มีอาการคัดจมูกน้อยกว่า
5. นำปลายกระบอกฉีดยา ใส่เข้าไปในจมูกข้างที่จะล้างเล็กน้อย อ้าปากไว้ แล้วหายใจเข้าเต็มที่ และกลั้นหายใจไว้
6. ดันกระบอกสูบของกระบอกฉีดยา เบา ๆ ให้น้ำเกลือไหลเข้าไปในจมูกช้า ๆ
7. หลังจากล้างเสร็จ สั่งน้ำมูก หรือน้ำเกลือที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกออก
8. ล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือ น้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาด  (ในกรณีที่ใช้กระบอกฉีดยาที่ทำจากแก้ว  หลังจากล้างแล้วควรนำมาต้มกับน้ำเดือด ประมาณ 5 นาทีแล้วผึ่งให้แห้ง)
“การล้างจมูกแต่ละครั้งนั้น ควรล้างจนกว่าจะรู้สึกว่าจมูกโล่ง  ไม่มีน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกอะไรคั่งค้างในจมูก”
การล้างจมูก..มีประโยชน์อย่างไร?
● ช่วยบรรเทาอาการหวัดเรื้อรัง อาการคัดจมูก หรืออาการระคายเคืองในจมูกให้ดีขึ้น
● ชำระล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรคออกจากจมูก ล้างมูกเหนียวข้น ช่วยให้โพรงจมูกสะอาด
● ชำระล้างคราบสะเก็ดแข็งของเยื่อบุจมูกหลังการผ่าตัดจมูกและไซนัส
● ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสไปสู่ปอด
● การล้างจมูกก่อนใช้ยาพ่นจมูก จะช่วยให้ยาพ่นจมูกมีประสิทธิภาพดีขึ้น
● ลดจำนวนเชื้อโรค มลพิษ สารก่อภูมิแพ้ สิ่งระคายเคือง และสารที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก
ควรล้างจมูกเมื่อไร?
● เมื่อมีน้ำมูกเหนียวข้นจำนวนมาก
● ก่อนใช้ยาพ่นจมูก
● มีกลิ่นเหม็นที่เกิดจากโรคจมูกหรือไซนัส
● หายใจเอาฝุ่นควันหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าใจจมูก
ข้อควรระวังในการล้างจมูก มีอะไรบ้าง?
การล้างจมูกสามารถทำได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่ไม่ควรนำมาใช้กับทารกที่อายุยังน้อย และควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าจะปลอดภัยหรือสามารถบรรเทาอาการที่เป็นหรือไม่ หากล้างจมูกแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีอาการไข้ ปวดศีรษะหรือมีเลือดกำเดาไหลตามมา แนะนำให้สอบถามแพทย์
ในระหว่างการดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก จำเป็นต้องกลั้นหายใจไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้หายใจเอาน้ำเกลือลงไปยังกล่องเสียงและหลอดลม เพราะจะทำให้เกิดการสำลักได้
สิ่งสำคัญควรรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ โดยทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้งหลังใช้งานด้วยน้ำสบู่เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานไม่ปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้วิธีนี้
Scroll to Top