Health Me

อาการไอ…เป็นมานานไม่หายสักที!!

  • บทความ
  • อาการไอ…เป็นมานานไม่หายสักที!!

เคยเป็นไหม ? ไอบ่อย ๆ จนน่ารำคาญ กินยาแล้วก็ยังไม่หาย บางครั้งไอนานหลายสัปดาห์ หลายคนมีอาการแบบนี้ก็คิดว่าแค่เป็นการไอปกติทั่วไป แต่จริง ๆ แล้ว อาการไอที่เป็นอยู่นาน ๆ อาจเป็นอาการของการ “ไอเรื้อรัง” ซึ่งเป็นสัญญาณของการเกิดโรคมากมาย

ภาวะ “ไอเรื้อรัง” คืออะไร ?
ไอเรื้อรัง คือ การไอที่มีระยะเวลาติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ ภาวะไอเรื้อรังมีสาเหตุหลากหลาย อาจเกิดจากภาวะติดเชื้อ หรือภาวะที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ หอบหืด บางกรณีภาวะไอเรื้อรังอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ เช่น กรดไหลย้อน ภาวะหัวใจวาย
สาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการไอเรื้อรัง
1. ภาวะน้ำมูกไหลลงลำคอ (Post nasal drip syndrome/Upper airway cough syndrome)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักมีอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับอาการทางจมูก เช่น น้ำมูก หรือ คัดจมูกเป็น ๆ หาย ๆ ระคายคอ ผู้ป่วยบางรายอาจะมาพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรังชนิดมีเสมหะ สาเหตุเกิดได้จาก
○ อาการไอที่เกิดภายหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Post-infectious cough)
○ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)
○ กลุ่มอาการโพรงไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
2. อาการไอที่มีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ (Chronic Bronchitis/Chronic Obstructive Pulmonary disease) ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่พบว่าส่วนใหญ่ จะมีอาการไอเรื้อรังมีเสมหะเป็นระยะเวลานานหลายปี จากกลุ่มอาการหลอดลมลมอักเสบเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ หรือโรคถุงลมโป่งพอง
3. โรคหอบหืด (Asthma) มักมีประวัติโรคภูมิแพ้เดิมอยู่ มีประวัติไอ ร่วมกับมีอาการหายใจติดขัด หรือมีเสียงวี๊ด ๆ
4. วัณโรคปอด (Pulmonary Tuberculosis) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับมีอาการไอมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหารและน้ำหนักตัวลดลง มีประวัติสัมผัสบุคคลใกล้ชิดที่ป่วยเป็นวัณโรค
5. โรคกรดไหลย้อน (Gastro-esophageal Reflux Disease) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับมีอาการ เจ็บคอเรื้อรัง มีอาการแน่นแสบร้อนบริเวณกลางหน้าอก เร้อเปรี้ยวบ่อย ๆ
6. กลุ่มอาการไอจากยาบางชนิด ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง การรับประทานยา ความดันในกลุ่มยา ACEI อาจมีอาการไอแห้งๆได้และส่วนใหญ่เกิดภายหลังเริ่มรับประทานยาในช่วง 1-2 เดือน
ไอแบบไหนควรพบแพทย์ ?
● ไอติดต่อกันมากกว่า 8 สัปดาห์
● อาการไอรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
● อาการไอที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเลือดปน น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก
● ไอจากการที่เคยสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค
● มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต หัวใจ เมื่อมีอาการไอควรรีบมาพบแพทย์
ไอเรื้อรังอย่าปล่อยไว้!!
● วัณโรคปอด แม้ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจะมีอาการไอเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย
● มะเร็งปอด เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มีอาการไอเรื้อรัง บางรายอาจไอออกเป็นเลือดสด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย
● ถุงลมโป่งพอง มักพบในคนที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง และหอบเหนื่อยง่าย มีหายใจเสียงดัง
● โรคหืด มักมีอาการไอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน อากาศเย็น ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับขนาดหลอดลมฝอยว่าตีบมากหรือน้อย อาการมีได้ตั้งแต่หายใจไม่สะดวก ไอมาก หายใจดัง หอบเหนื่อย อาการมักจะกำเริบเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจร่วมด้วย
● โรคภูมิแพ้อากาศ มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม บางรายมีน้ำมูกใสๆ ร่วมด้วย มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น
● กรดไหลย้อน มีอาการไอแห้งๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร หรือเวลาล้มตัวลงนอน อาจจะมีอาการแสบร้อนในอกหรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

การตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการไอเรื้อรัง
ในการตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการไอเรื้อรัง จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ระหว่างแพทย์เฉพาะทาง สาขาโรคหู คอ จมูก (ENT) อายุรแพทย์โรคทางเดินหายใจ (chest med) และสาขาโรคภูมิแพ้(allergy)
1. การซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียด สามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการไอเรื้อรังได้เบื้องต้น แพทย์สาขาโรคหู คอ จมูก มีเครื่องในการส่องดูโพรงจมูก และผนังลำคอเพื่อช่วยในการวินิจโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ กลุ่มอาการโพรงไซนัสอักเสบ
2. การส่งตรวจเอ็กซ์เรย์ปอด (Chest X-ray) เพื่อดูความผิดปกติภายในปอดเบื้องต้น หรือ การส่งตรวจเอ็กซ์เรย์โพรงไซนัส (Sinus X-ray) ในกรณีที่สงสัยภาวะโพรงไซนัสอักเสบ
3. การตรวจสมรรถปอด หรือการตรวจการกระตุ้นความไวของหลอดลม (Pulmonary function test, Bronchoprovocation test) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่
4. การตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (CT-scan Chest)
5. การส่งตรวจเสมหะ (Sputum examination) การส่งตรวจเสมหะเพื่อย้อมเชื้อและเพาะเชื้อวัณโรค(Acid fast stain, Culture for Tuberculosis)

ไอเรื้อรัง รักษาอย่างไร ?
การรักษาอาการไอเรื้อรังที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการไอ และรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ นอกจากนี้ การปฏิบัติตัวในขณะที่มีอาการไออย่างถูกต้อง ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น หรือไม่แย่ลง โดยสิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติในขณะที่มีอาการไอ ได้แก่
● หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น สารก่ออาการระคายเคือง ฝุ่น สารเคมี ควันบุหรี่
● หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศที่เย็นสามารถกระตุ้นหลอดลมให้เกิดการหดตัว ทำให้มีอาการไอมากขึ้นได้
● ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอขณะนอน เช่น นอนห่มผ้า
● ผู้ที่สูบบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงหรืองดการสูบบุหรี่
● ถ้าหากอาการไอมีไม่มาก อาจให้การรักษาเบื้องต้นโดยการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการไอ กรณีที่มีเสมหะร่วมด้วย ควรได้รับยาละลายเสมหะ เพื่อให้เสมหะที่เหนียวข้นมากขับออกจากหลอดลมได้ง่ายขึ้น แต่หากผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ
อาการไอเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง ได้แก่ โรคหวัด หลอดลมอักเสบ หรืออาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไอยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการไอ และรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

 

Scroll to Top